แนวคิดบางประการของ 'วอร์เรน บัฟเฟตต์'
ในการจัดอันดับมหา เศรษฐีเมื่อปีที่ แล้ว นิตยสารฟอร์บส์เลื่อน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 แทน บิล เกตส์ ซึ่งรั้งตำแหน่งนั้นอยู่ 13 ปี มหาเศรษฐีในยุคนี้มักอาศัยพลังของคลื่นเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความร่ำรวยเช่น เดียวกับบิล เกตส์ หรือไม่ก็ใช้การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินเช่นเดียวกับจอร์จ โซรอส แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ อายุ 78 ปีแล้ว และเริ่มก่อร่างสร้างตัวมาก่อนเทคโนโลยีดิจิทัลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิด คลื่นลูกที่ 3 (คลื่นลูกที่ 1 เกิดหลังการค้นพบวิธีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เมื่อราว 10,000 ปีก่อนซึ่งนำไปสู่ยุคเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 เกิดหลังการค้นพบเครื่องจักรกลเมื่อราว 300 ปีที่แล้วซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม) นอกจากนั้น เขายังต่อต้านการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินแบบจอร์จ โซรอส อีกด้วย
บัฟเฟตต์ เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้ว และเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมา ดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลาก หลายอย่าง รวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัท มาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้น เป็น 75,000 ดอลลาร์ ในเวลา 40 ปี
มีผู้พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขา ประสบความสำเร็จสูงอย่างน่ามหัศจรรย์นั้น เมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว มีหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่อ The Snowball : Warren Buffett and the Business of Life พิมพ์ออกมา แต่กว่าผู้อ่านจะค้นพบปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ก็ต้องอ่านกันนานเพราะหนังสือเล่มนี้มีความหนาเกือบ 1,000 หน้า ก่อนหน้านั้น มีผู้นำเอาข้อคิดในจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้นในบริษัท Berkshire Hathaway มารวมเป็นหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett : Lessons for Corporate America ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือทั่วไป และยาว 290 หน้า จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Michael Brush สรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อเผยแพร่ไปตามสื่อต่างๆ ขอนำมาเล่าสู่กัน เพราะมันน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ หรือมีเวลาไปเสาะหาหนังสือและต้นฉบับมาอ่านเอง
1. จงเป็นผู้มัธยัสถ์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย อาทิเช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้น เวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิเช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลาย ทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก
ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงิน เหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูง นักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคม ยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง กิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ และพยายามจำกัดค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูง ยิ่งขึ้น
2. จงยึดหลักช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้น จากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมัน ปิโตรเลียมและแร่ธาตุ อาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะ เกิดขึ้น ฉะนั้นในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้าน น้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์ และด้านการขนส่งทางรถไฟ
3. จงเดินทวนกระแส บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้ว เขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้าม เนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของ หุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของ บางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐาน ก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่างๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น
4. จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้ อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี่ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้น อย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น
5. จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อ ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้น ด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง
6. จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา ?มูลค่าภายใน? (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้ายๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมากๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี ?ส่วนเผื่อความปลอดภัย? (margin of safety) สูงมาก
บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มากๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปี เพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่างๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์
ที่มา บ้านเขาเมืองเรา : ดร.ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจ